บาลานซ์การบ้าน ขาเลาะเปลี่ยน ขาเรียนปลื้ม
โดย นายณัฐสิทธิ เธียรประสิทธิ์
หากกล่าวว่า “เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ไทยคงเป็นมหาอำนาจที่อุดมด้วยทรัพยากรมนุษย์อันทรงคุณค่าไม่แพ้ใครในโลก เพราะพ่อแม่บางคนให้ลูกท่องตารางธาตุตั้งแต่ประถมฯ ส่วนคุณหมอท่านหนึ่งโพสต์ชี้แนะว่า “อย่าให้ลูกเล่นเกม”
เปรียบดังวินัยจราจรที่สะท้อนวินัยชาติ จำนวนชั่วโมงที่เด็กไทยคร่ำเครียดปั่นการบ้านในแต่ละคืน น่าจะสะท้อนการเป็นสังคมที่วิริยอุตสาหะ ในเมื่อผู้ปกครองจำนวนมากมุมานะปลุกปั้นลูกให้เป็นอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ทั้งที่ลูกอาจเห็นคริสเตียโน โรนัลโด หรือคริสเตียน ลูบูแตงเป็นไอดอล) แล้ว เหตุใด “คน” ยังเป็นข้อจำกัดเรื้อรังของชาติ ฉุดรั้งการก้าวขึ้นเป็นประเทศ 4.0 ที่อาศัยการขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม?
การที่เรายังยืนอยู่จุดนี้ อาจไม่ได้เป็นเพราะละอ่อนที่ตอนเย็นทำอะไร (ซึ่งผู้ใหญ่มองว่า) ไร้สาระอย่างเต้นฮิปฮอป แต่เพราะค่านิยมผิดๆ ว่า ลูกจะแข่งขันได้ ต้อง (เกรด) 4.0 ไปหมดทุกวิชา โดยเฉพาะเมื่อครูออกข้อสอบมหาโหด ชนิดที่ว่าบางทีทั้งห้องไม่มีใครตอบได้ หรือสั่งการบ้านด้วยการคัดลายมือครั้งละสิบหน้า หรือการให้โจทย์ที่ท้าทายเกินวัย (เด็กอนุบาล 2 ยังไม่เคยเรียนเรขาคณิต ยังท่อง A ถึง Z ไม่ได้ แต่ต้องรู้จัก Oval!) เวลาของเด็กในการคิด วิเคราะห์สิ่งที่อยู่รอบตัว การแสดงออก วาดฝัน หรือจินตนาการสิ่งใหม่ๆ ย่อมลดน้อยถอยลงตามภาระงานหลังเลิกเรียน ทั้งที่วัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่ความคิดสร้างสรรค์สูงสุด นำมาซึ่งปุจฉาว่า ปริมาณ รูปแบบ และระดับของการบ้านที่เหมาะสมคืออะไร?
ผลงานวิจัยระดับนานาชาติพบว่า ไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างปริมาณการบ้านกับความสำเร็จทางการศึกษาอย่างชัดเจน (หากมากเกินไป อาจส่งผลเชิงลบต่อความสามารถของเด็กด้วยซ้ำ) โดยเด็กอายุ 15 ปีชาวไทยและอิตาลีใช้เวลาทำการบ้านถึง 5.6 และ 8.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ แต่ได้รับการประเมินวิชาวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าฟินแลนด์และญี่ปุ่นที่ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 2.8 และ 3.8 ชั่วโมง แม้แต่เกาหลีใต้ซึ่งระบบการศึกษาได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของโลก ยังใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยเพียงแค่ 3.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น ผู้สอนในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ จึงเสนอให้เลิกการบ้าน แล้วหันไปสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตแทน เพราะบนโลกอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีค่ากว่าหนังสือเล่มใด ทุกคนสามารถเสริมสร้างศักยภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา
การบ้านไม่ใช่สิ่งที่เป็นพิษภัยหากอยู่ในปริมาณและระดับที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือแม้แต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครองได้ แต่หากเกินความพอดี ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ นอกจากเยาวชนจะสูญเสียโอกาสทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาทั้งสมองและร่างกาย หรือทำประโยชน์ต่อส่วนรวม อันสร้างเสริมความฉลาดทางอารมณ์แล้ว ยังก่อให้เกิดช่องว่างทางความรู้มากขึ้นด้วย เพราะเด็กบางกลุ่มมีทุนทรัพย์พอที่จะเรียนพิเศษ ทำให้ได้เปรียบในการทำการบ้านหรือสอบวัดผล แต่รายที่เรียนไม่ทัน เมื่อเห็นการบ้านซึ่งเน้นทฤษฎีและการท่องจำ แทนที่กระตุ้นให้เกิดความสนใจหรือความคิดสร้างสรรค์ จะรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ จนอาจรู้สึกว่า “เรียนไม่ได้” หรือไม่ก็ไปใช้บริการรับจ้างทำการบ้าน เขียนรายงาน วาดภาพ ฯลฯ ซึ่งกดเฟสบุ๊คทีเดียว มีผู้เสนอทำแทนให้หมด ด้วยสนนราคาตั้งแต่หลักสิบบาท การใช้เงินซื้อทุกสิ่งเยี่ยงนี้อาจช่วยเด็กให้อยู่รอดได้ในระยะสั้น แต่ผู้ปกครองเคยคิดหรือไม่ว่า สุดท้ายแล้วคนที่คุณรักจะเติบโตท่ามกลางความคุ้นชินกับการทุจริต
จนในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดแนวปฏิบัติการให้การบ้านนักเรียน ตามประเด็นข้อสั่งการของ คสช. โดยกำชับให้ “ครูพิจารณามอบหมายการบ้านให้นักเรียนอย่างเหมาะสม ไม่ยากเกินไป ไม่มากเกินไป (และ) ควรมอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น … ซึ่งจะสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริงมากกว่า” คล้ายคลึงกับแนวทาง “การบ้านคุณภาพ” ของ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามาจิตติซึ่งระบุว่า ควรตั้งโจทย์ให้เข้ากับบริบทและความสนใจของนักเรียนแต่ละคน เช่น แทนที่จะให้เขียนประวัติวัดพระแก้วซึ่งลอกต่อๆ กันได้ ก็ให้เล่าประวัติและวิเคราะห์ของชิ้นหนึ่งในบ้านแทน โดยครูมีหน้าที่เรียนรู้จากเด็ก รวมทั้งปรับระดับความยากของการบ้านให้ตรงกับพื้นฐานของแต่ละคน
กล่าวได้ว่า การบ้านไม่ควรเป็นแค่เครื่องมือวัดคะแนน แต่เป็นกลไกประเมินและเสริมสร้างความก้าวหน้าของเด็กแต่ละคน ปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอนของบุคลากรทางการศึกษาให้ตอบโจทย์ที่แท้จริงของเด็ก รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์อันดีภายในโรงเรียนและบ้าน เหมือนกับการให้ลูกเลือกอ่านหนังสือเอง พาไปเที่ยวสวนสัตว์ ชมการแสดง หรือเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร
เด็กจะฉลาด ชาติเจริญ หรือเด็กจะเอือม ชาติเสื่อมเสีย (โอกาส) มิใช่แค่การเมือง แต่เป็นเรื่องการบ้าน!