ความท้าทายในยุคศตวรรษที่ 21 : ความรู้ด้านดิจิทัล…จำเป็นหรือ?

ผู้เขียน : ทีมงาน KSR
| เผยแพร่ : 19 มีนาคม 2019

ความท้าทายในยุคศตวรรษที่ 21: ความรู้ด้านดิจิทัลจำเป็นหรือ?

โดย ดร.ปรียา ผาติชล

ยุคนี้สมัยนี้หันไปทางไหนทุกคนใช้สมาร์ทโฟนไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ แต่วัตถุประสงค์ในการใช้แตกต่างกัน เด็กนักเรียน พ่อแม่มีสมาร์ทโฟนให้ติดตัวไว้เพื่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น ดูเหมือนว่าสมาร์ทโฟนเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เราๆท่านๆใช้กันเป็นปัจจัยที่สำคัญนอกเหนือจากปัจจัยสี่ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน จึงสะท้อนให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าโลกเราเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หากมองย้อนกลับไปเพียงไม่กี่ปี เราจะรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันคงไม่จำเป็นต้องเฝ้ารอดูหนัง ดูละครจากโทรทัศน์อีกแล้ว เราสามารถใช้สมาร์ทโฟนในการดูหนังดูละครในมุมโปรดที่ใด เวลาใดก็ได้ ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้ต้องหันมามองว่าทักษะใดบ้างที่จำเป็นต้องมีในการอยู่รอดในยุคปัจจุบัน และผู้คนส่วนใหญ่น่าจะเห็นด้วยว่าทักษะเพื่อการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โลกยุคอะนาล็อกไม่ได้หายไปแต่จะถูกกลืนไปอย่างช้าๆ และถึงเวลาของการที่จะสร้างการเรียนรู้ให้ก้าวทันกับยุคดิจิทัลกันแล้ว

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งอย่างเช่นที่ปรากฏทุกวันนี้ และความตื่นตัวกับการตระหนักถึงความรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 ที่ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสังคมแห่งการเรียนรู้ยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดโอกาสในการใช้ความรู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ขณะเดียวกันหากเราไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับความรู้ใหม่ๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลาก็อาจจะเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการที่จะตกอยู่ในกลุ่มคนที่ล้าหลังทันทีมีหลายคนกล่าวไว้ว่า

หากเราหยุดเดินก็เปรียบเสมือนถอยหลังแล้ว เพราะจะมีคนที่เดินนำอยู่แล้วก็จะล้ำหน้าไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันคนที่เดินตามก็จะแซงหน้าด้วย ดังนั้นเพื่อให้ก้าวได้ทันกับโลกการเรียนรู้ยุคใหม่จึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้มีความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของการก้าวไปสู่สังคมยุคดิจิทัล

ซึ่งแน่นอนว่าความรู้ที่สำคัญและจำเป็นคงหนีไม่พ้นความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือดิจิทัล โดยเฉพาะสื่อสังคม (Social Media) อีกนัยหนึ่งก็คือ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ต้องเข้าถึงความรู้ที่มีการติดต่อสื่อสารหรือการรับรู้ข้อมูลที่ไม่มีขีดจำกัด สามารถสื่อสารได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกคน สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในยุคดิจิทัลที่เป็นความท้าทายของคนไทยที่ต้องมีความรู้อย่างน้อยให้มีความสามารถด้านดิจิทัล (Digital capabilities) ด้วยเหตุผลสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

  1. สมรรถนะของดิจิทัลส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากงานศึกษาโดย Accenture (Microsoft Citizenship Asia Pacific, 2016) พบว่าในปัจจุบันทักษะ ทุน สินค้าและบริการด้านดิจิทัลมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า 22% และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2020เทคโนโลยีด้านดิจิทัลจะมีอิทธิพลต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจของโลกถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้หลายประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม มีแผนที่จะกำหนดให้การศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ (Computer Sciences) เป็นหลักสูตรระดับชาติ
  2. ความต้องการของตลาดแรงงานด้านทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Coding) เพิ่มขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น AI (artificial intelligence) มีบทบาทในการแทนที่งานของคนมากขึ้น จากงานวิจัยของ WEF (World Economic Forum) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2020 ตำแหน่งงานกว่า 5 ล้านตำแหน่งจะสูญหายไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โดยงานในอนาคตจะเป็นผลจากความต้องการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้าน STEM (Science Technology Engineering and Mathematics) ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการปรับและเพิ่มทักษะ (Reskill and Upskill) ตามความต้องการของการอยู่รอดในสังคมยุคศตวรรษที่ 21
  3. Coding (โปรแกรมคอมพิวเตอร์) ขับเคลื่อนนวัตกรรมและผู้ประกอบการ เศรษฐกิจแอฟพลิเคชั่น (App Economy) ถูกคาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้นเป้น 2 เท่าในปี 2020 ในปัจจุบันใครที่มีแนวคิดในการใช้เทคโนโลยี Internet of Thing เช่น Uber และ Airbnb ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจผ่านสื่อดิจิทัลในธุรกิจการขนส่งและการท่องเที่ยว ก็จะมีความสามารถทำตลาดและสร้างรายได้ได้เพิ่มขึ้น จากข้อมูลของบูมเบิร์ก พบว่าบริษัท 5 อันดับแรกของโลกที่วัดจากมูลค่าตลาด คือ Apple, Alphabet, Microsoft, Amazon และ Facebook ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโลกในปัจจุบันและอนาคตได้เปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างเช่น บริษัทน้ำมัน แก๊ส ธนาคาร และรถยนต์ ไปแล้ว
  4. Coding (โปรแกรมคอมพิวเตอร์) เป็นภาษาที่สองในอนาคต การเรียนรู้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Coding) จะสามารถปลดล็อความเป็นไปได้ในการสร้างสิ่งใหม่ๆ และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สหรัฐมีแนวคิดที่จะให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นภาษาหนึ่งที่นักเรียนในระดับมัธยมจะต้องเรียนรู้ในโรงเรียนซึ่งสะท้อนว่าในปัจจุบันงานที่เกี่ยวข้องกับทักษะภาษาคอมพิวเตอร์จะเป็นอีกงานหนึ่งที่แข่งขัน (Competitive Job) ได้ในอนาคต และถือเป็นภาษาต่างชาติที่สำคัญอีกภาษาหนึ่ง
  5. Coding (โปรแกรมคอมพิวเตอร์) เป็นปัจจัยเสริมและหนุนที่สำคัญสำหรับทักษะพื้นฐาน ประโยชน์ที่ได้จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีมากกว่าเรื่องการประกอบอาชีพด้านนี้ โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ในการทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถสร้างทักษะพื้นฐานที่สำคัญ เช่น กระบวนการคิดที่ทำให้ระบบที่ซับซ้อนสามารถแปลงมาเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น การสร้างความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการแก้ไขปัญหา ตรรกะในการพัฒนา และสร้างนวัตกรรมรวมถึงการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ในอนาคต

จะเห็นได้ว่า 5 เหตุผลสำคัญในการเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล/โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นองค์ความรู้ที่เด็ก/คนไทยในยุคนี้สมัยนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีเพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองรองรับและก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และ Internet of Thing ได้อย่างเท่าทัน