ท่องเที่ยวไทย … พัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน?

ผู้เขียน : Staff_KSR
| เผยแพร่ : 17 เมษายน 2019

ท่องเที่ยวไทย … พัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน?

โดย ณัฐสิทธิ เธียร์ประสิทธิ์

จากสถิติขององค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organisation: UNWTO) ปี 2558 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน สเปน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร สูงกว่าประเทศยักษ์ใหญ่ในยุโรปอย่างอิตาลีและเยอรมนีด้วยซ้ำ โดยไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 30 ล้านคน แต่ในอีกด้านหนึ่ง อันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel and Tourism Competitiveness) ของไทย ซึ่งประเมินโดยที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ต่ำกว่าประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย และอยู่ที่อันดับ 34 จากทั้งหมด 136 ประเทศเท่านั้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

 

ด้วยข้อได้เปรียบทางทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งไทยอยู่ลำดับที่ 7 และ 37 ของโลก ตามลำดับ ประกอบกับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยว ซึ่งไทยติดอันดับที่ 16 จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศเราได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักท่องเที่ยวจากตลาดใหม่ เช่น จีน อินเดีย เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้เราอาจลืมที่จะปัดกวาดเช็ดถูบ้านให้เรียบร้อยหรือส่องกระจกดูว่ามีอะไรที่เราต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่

ปัจจัยอุปทานเหล่านี้ ถูกสะท้อนผ่านดัชนีขีดความสามารถการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว กล่าวคือ คะแนนด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ในอันดับที่ 90, 118 และ 122 ของโลกเท่านั้น ซึ่งสังเกตได้ว่า ประเด็นเหล่านี้ เช่น การก่อการร้าย/อาชญากรรม การเข้าถึงแพทย์ การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ไม่ได้เป็นปัญหาที่กระทบต่อนักท่องเที่ยวเพียงลำพัง แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยโดยทั่วไป

ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวในระยะยาว จะต้องไม่ยึดติดกับตัวชี้วัดอันผิวเผิน เช่น จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่ในบางครั้งสถิติดังกล่าวอาจเป็นการตลาดภาพลวงตา เพราะอาจไม่สะท้อนประเด็นดังต่อไปนี้

(1) โครงสร้างของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดใหม่ โดยในปี 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเติบโตถึง 36.07% แต่จากยุโรปและโอเชียเนียกลับลดลง หรือกล่าวได้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ส่วนหนึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์จากจีน ซึ่งในปี 2558 เดินทางมายังไทยเกือบ 10 ล้านคน มากกว่าตลาดเดิมอย่างยุโรปทั้งทวีป นำมาซึ่งคำถามว่า ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนี อังกฤษ หรือสแกนดิเนเวีย ซึ่งการเติบโตในระยะที่ผ่านมาแทบคงที่ หายไปไหนกัน หากบางส่วนเดินทางไปสถานที่ที่สดใหม่หรือดิบกว่า ทำไมเราไม่นำเสนอสิ่งที่เรามีแต่เขายังไม่รู้จักแก่กลุ่มคนเหล่านี้?

(2) จำนวนและรายได้การท่องเที่ยวยังกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดหลักๆ อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ถึงแม้ว่าชาวไทยไปเยี่ยมเยือนบรรดา “เมืองต้องห้าม … พลาด” มากขึ้น แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปยังภาคอีสานซึ่งมีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ กลับต่ำกว่า 5% อันสะท้อนว่า ความไม่เสมอภาคของรายได้การท่องเที่ยวยังเป็นประเด็นท้าทายสำหรับภาครัฐ หากเราไม่สามารถดึงทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว/แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และขนบธรรมเนียมประเพณีเฉพาะถิ่นอันมีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่คนทั่วไปรู้จัก มาใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ใหม่ๆ (ยกตัวอย่างเรื่องอาหาร ฝรั่งมังค่ารู้จักผัดไทยกับแกงเขียวหวานถ้วนหน้า แต่น้อยคนเข้าใจความแตกต่างของอาหารแต่ละถิ่น เช่น ตำรับอาหารของภาคตะวันออกอย่างจังหวัดจันทบุรี ที่มีทั้งเส้นจันท์ แกงหมูชะมวง และรายการอาหารนับไม่ถ้วนที่ใช้วัตถุดิบอย่างกระวาน ทุเรียน ฯลฯ อันสะท้อนลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์และภูมิปัญญาชาวบ้าน) นอกจากว่าเราจะไม่สามารถสร้างความน่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความพิถีพิถันหรือความสดใหม่ได้แล้ว ช่องว่างทางรายได้ระหว่างเมืองหลักกับเมืองรองจะยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง

โดยสรุป ดัชนีข้างต้นได้สะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการท่องเที่ยว เหมือนกับการที่เราบริโภคอาหารอย่างไร เราก็จะเป็นคนเช่นนั้น (“You are what you eat”) หากเปรียบประสบการณ์จากแต่ละจุดหมายปลายทางที่ผสมปนเปทั้งเปรี้ยวหวานเค็มมัน ประเทศไทยมีรสชาติอย่างไร นักท่องเที่ยวที่บริโภคเราก็จะเป็นคนเช่นนั้น!